ว่านแสงอาทิตย์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Haemanthus multiflorus (Tratt.) Martyn
ชื่อวงศ์ : Amaryllidaceae
ชื่อสามัญ : Blood flower, Powder puff lily
ชื่อพื้นเมือง : ว่านกระทุ่ม ว่านตะกร้อ
ลักษณะทั่วไป : เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กในวงศ์พลับพลึง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกาเขตร้อน
ลำต้นเป็นหัวลักษณะคล้ายหอมหัวใหญ่ เจริญอยู่ใต้ดิน ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับรอบต้น ใบรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 15-20 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาอวบน้ำ สีเขียวอมเหลือง ผิวเป็นมันอาจย่นเป็นคลื่นเล็กน้อย ก้านใบสั้นมีจุดประสีน้ำตาลแดง
ดอก : ออกดอกในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม โดยต้นจะพักตัวก่อนมีดอก เมื่อดอกโรยแล้วจึงจะผลิใบ ลักษณะดอกจะชูก้านดอกเป็นลำตรงสีเขียวอ่อน จากกลางต้นสูงมาพ้นใบ ยาว 30-40 เซนติเมตร ดอกมีสีแดงสด หรือแดงอมส้ม ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นจากกอ กลีบดอกและเกสรยาวเป็นเส้นฝอย ช่อดอกบานเต็มที่กว้าง 12-15 เซนติเมตร บานติดต้นอยู่ประมาณ 7-10 วัน จึงจะโรย
การปลูก : ชอบดินร่วน ระบายน้ำดี ปลูกได้ทั้งในที่กลางแจ้งและในที่ร่ม แต่ต้องปลูกอยู่ในดินที่มีความชื่นพอประมาณ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีแยกหัวไปปลูก หรือเพาะเมล็ด แต่การขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเมล็ดต้องใช้เวลานาน 5-7 ปี จึงจะมีดอก
ว่านแสงอาทิตย์ นอกจากจะมีดอกสวยงามแล้ว ยังนิยมปลูกเป็นว่านเสี่ยงทาย โดยเชื่อว่าผู้ใดปลูกขึ้นดีไม่ตาย ออกดอกเมื่อใดผู้ปลูกจะมีโชคลาภ ว่านแสงอาทิตย์ถือเป็นว่านมงคลที่มีสรรพคุณทางด้านคงกระพันชาตรี ค้าขายดีมีกำไร เป็นสิริมงคลทั้งยังมีอำนาจ มีเทวดารักษาคุ้มครอง ส่วนใหญ่จึงนิยมปลูกในบริเวณบ้าน หรือปลูกลงกระถางตั้งไว้หน้าร้านค้า จะเป็นเสน่ห์มหานิยม เรียกลูกค้าเข้าร้านไม่ขาด
ว่านแสงอาทิตย์ อาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปหลากหลายชื่อ เช่น กรุงเทพฯ และภาคอีสานนิยมเรียกว่า "ว่านแสงอาทิตย์" ตามลักษณะของดอกว่านที่มีเกสรยาวสีแดงเป็นเส้นฝอยคล้ายแสงอาทิตย์ ส่วนทางภาคเหนือนิยมเรียก ว่านกระทุ่ม , ว่านตะกร้อ หรืออาจเรียกว่า "ดอกพฤษภาคม” ตามลักษณะการออกดอกของว่านที่จะออกดอกช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ บางพื้นที่อาจเรียกว่า "ว่านพู่ จอมพล" ตามลักษณะของดอกที่เป็นฝอยคล้ายพู่ รูปทรงกลมสีแดงสดใส
อนึ่ง ชื่อว่านแสงอาทิตย์นี้ ตำราว่านโบราณท่านเรียกว่า “ว่านกุมารทอง” อันเนื่องมาจากลักษณะของหัวที่มีรากเป็นกระจุกหนาแน่นดูเหมือนแท่นหรือฐานรองหัว ทำให้ดูคล้ายเด็กผมจุกนั่งอยู่บนแท่น ส่วนชื่อว่านแสงอาทิตย์นั้น ตำราว่านโบราณท่านหมายถึงพรรณไม้อีกชนิดหนึ่งที่แตกต่างกันไป
โดยตำราว่านโบราณกล่าวไว้ว่า เมื่อจะทำการปลูกว่านกุมารทอง ควรเลือกวันอังคารเป็นวันทำการปลูก หากได้วันอังคารเดือน 6 ด้วยแสงจะเพิ่มความขลังยิ่งนัก น้ำที่จะรดในคราวแรกปลูก ควรเสกด้วยพระคาถา “นโมพุทธายะ” สามคาบ แล้วจึงนำไปรดหว่านที่เพิ่งลงดิน และเมื่อใดที่ว่านกุมารทองออกดอกให้เก็บเอาเกสรของดอกมาผสมน้ำมันถั่วทาตัว ถือกันว่าเป็นการกระทำเพื่อความคงกระพันชาตรี ป้องกันอุบัติเหตุภัยอันตรายต่าง ๆ ได้อย่างชะงัดนัก แม้นเกิดเหตุร้ายก็สามารถพาตัวเองหลุดพ้นจากวิกฤติกาล นั้น ๆได้อย่างปลอดภัย
ลักษณะหัวของว่านกุมารทองดูคล้ายหอมหัวใหญ่
ลักษณะหัวของว่านกุมารทองที่มีฐานรองหัว ทำให้จินตนาการคล้ายเด็กผมจุก (กุมารทอง) นั่งอยู่บนแท่น
เล็กๆ น้อยๆ เก็บมาฝาก
การปลูกว่านแสงอาทิตย์นั้นควรต้องระมัดระวัง เนื่องจากมีข้อมูลว่าหัวและใบของว่านแสงอาทิตย์มีพิษ ทำให้ท้องเดิน หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ยางจากหัวว่านทำให้ลิ้นแข็ง จนอาจทำให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่านแสงอาทิตย์จะมีพิษ แต่หากรู้จักใช้ให้เป็น ใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น